สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1632  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๖๒๙ วรรคสุดท้าย การแบ่งส่วนมรดกของทายาทโดยธรรมในลำดับญาติให้เป็นไปตามบทบัญญัติในส่วนที่ ๑ แห่งหมวดนี้

 

 
 
 
 
 
 
 
 
 
 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6080/2559 สิทธิในการรับมรดกนั้นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าเจ้ามรดกมีทายาทชั้นบุตร 9 คน โดยไม่ปรากฏว่ามีทายาทชั้นอื่นที่จะต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้อีก ดังนั้นมรดกของเจ้ามรดกต้องถูกแบ่งออกเป็น 9 ส่วนเท่าๆ กัน โดย ป.พ.พ. มาตรา 1632 และ 1633 บัญญัติว่า หากแบ่งปันหรือมีข้อตกลงให้แบ่งปันเป็นประการอื่น ต้องเป็นข้อตกลงยินยอมของทายาททุกคน จะใช้มติของทายาทเสียงข้างมากบังคับให้มีผลแตกต่างจากส่วนแบ่งที่จะได้รับตามกฎหมายหาได้ไม่ คดีนี้ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 กล่าวอ้างว่า ทายาททุกคนตกลงให้แบ่งปันทรัพย์มรดกออกเป็น 10 ส่วน ส่วนที่เหลืออีก 1 ส่วน ยกให้แก่ จ. ก็มีผลเท่ากับว่า จ. ได้รับส่วนแบ่ง 2 ส่วน เกินส่วนที่ตนเองจะได้รับตามกฎหมาย และมีผลทำให้ทายาทอื่นรวมทั้งโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาต้องได้รับส่วนแบ่งน้อยลงด้วย ทั้งในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ปรากฏว่าโจทก์เกี่ยวข้องด้วย การแบ่งปันทรัพย์มรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงมีผลบังคับเฉพาะที่ทายาทที่ตกลงกันเท่านั้น ไม่มีผลผูกพันโจทก์และไม่อาจทำให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งที่มีสิทธิจะได้รับตามกฎหมายได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการแบ่งมรดกที่แบ่งโดยมิชอบได้ แต่คงเพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2714/2562 ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม แต่ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายซึ่งมีสิทธิรับมรดกของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629, 1632 ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ และผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย จึงสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย